in

ใครยังใช้เทปกาวซ่อมทุกอย่างอยู่บ้าง? เปลี่ยนมาใช้กาว ซิลิโคนใส ได้แล้วนะ!!

      มีเรื่องมาเล่าให้ฟังค่ะ เป็นเรื่องโก๊ะๆ ที่อยากนำมาเล่าให้ทุกคนฟัง จะฟังแก้เครียดหรือเอาสาระก็ไม่ว่ากัน

     ด้วยความที่ knowlage ด้านการซ่อมแซมแก้ไขของใช้ต่างๆ เป็นศูนย์ (หรืออาจติดลบ) ที่ผ่านมาช่างมุ้งมิ้งก็เลยใช้เทปกาวซ่อมทุกอย่างตั้งแต่สากกระเบือยันเรือรบ เชื่อมั่นมาเสมอว่ามันก็แก้ปัญหาได้นะ แถมง่ายและสะดวก ปรับใช้เอาก็ได้แล้ว

      แต่จริงๆ แล้วมันยุ่งยากและสิ้นเปลืองกว่าที่คิดมาก แถมยังเสียเวลาเปล่าด้วยค่ะ


      ปัญหาล่าสุดที่ใช้เทปกาวคือซ่อมฝักบัวค่ะ แค่ได้ยินก็รู้แล้วว่ามันไม่มีทางเวิร์คแน่นอนใช่มั้ยคะ คือตั้งใจแค่จะแก้ปัญหาแค่ชั่วคราวจริงๆ เพราะเงินเดือนหมดเร็วมาก (TT-TT) กะว่าเงินเดือนออกค่อยสั่งมาเปลี่ยนใหม่ 

      มันเป็นของที่สั่งมาจากในเน็ตค่ะ ช่างมุ้งมิ้งจำไม่ได้แล้วว่าครั้งสุดท้ายที่เดินช้อปปิ้งเองคือเมื่อไหร่ กดซื้อในแอปฯ มันง่ายและสะดวกดี แต่ก็วัดดวงเอาว่าจะได้ของดี ของตรงปกหรือเปล่า ช่างมุ้งมิ้งสั่งมาเปลี่ยนเองเพราะน้ำที่หอพักไหลแรงเกินไปจนเจ็บผิวเวลาอาบ แถมน้ำยังไม่สะอาดด้วย 


       มันก็ใช้ได้ดีในช่วง 2-3 วันแรก แต่เพราะวัสดุเป็นแค่พลาสติก หลังจากเจอน้ำร้อนเข้าไปก็เลยรั่วตามขอบ น้ำพุ่งไปคนละทิศละทางอย่างกับสปริงเกอร์เลยค่ะ (-*-) แต่ถึงอย่างนั้นช่างมุ้งมิ้งก็ไม่ยอมกลับไปใช้อันเดิมเด็ดขาด เพราะอย่างน้อยอันใหม่มันก็กรองน้ำได้ 

      ใจเราแค่จะปิดรอยรั่วพวกนั้นเฉยๆ แล้วที่ห้องก็บังเอิญมีเทปกาวที่เหลือจากการห่อของขวัญไว้แลกตอนสิ้นปีพอดี ก็เลยหยิบมาใช้แก้ขัดไปก่อน หวังว่ามันจะช่วยได้ แต่พันไปร้อยรอบก็ไม่ช่วยอะไรจริงๆ ค่ะ สุดท้ายก็ต้องรองใส่กะละมังเอา

      จนกระทั่งซื้ออันใหม่มาเปลี่ยนแล้วถึงเพิ่งรู้ว่าสิ่งที่เหมาะจะใช้จัดการปัญหาในห้องน้ำพวกนี้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นฝักบัว อ่างล้างหน้า หรืออ่างอาบน้ำ มันก็คือ กาวซิลิโคนใส นั่นเอง (-_-’’)


      ตั้งแต่นั้นมาก็เริ่มหาความรู้เข้าหัวค่ะ ศึกษาไว้เลยเพื่อไม่ให้มีเหตุการณ์ เสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย แบบนี้อีก

      แน่นอนว่าการซื้อใหม่มันดีที่สุดอยู่แล้ว แต่บางครั้งเราก็ไม่ได้พร้อมจะซื้อทุกอย่างใหม่เสมอ มีของพวกนี้ไว้แก้ขัดก็ดีค่ะ แล้วมันก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์ได้แค่อย่างเดียวด้วย มันเป็นกาวสารพัดประโยชน์และพลิกแพลงการใช้งานได้หลากหลายน่าทึ่งมากค่ะ


แล้วกาว ซิลิโคนใส คืออะไร?

ซิลิโคนใส / กาวซิลิโคนใส

      กาวซิลิโคน หรือบางคนอาจจะเรียกว่า ซิลิโคน เฉยๆ เป็นของที่พ่อบ้านแม่บ้านหรือชาวหออย่างช่างมุ้งมิ้งควรมีติดไว้ค่ะ ยิ่งถ้าใครเป็นผู้หญิงอยู่ตัวคนเดียว ไม่สะดวกจะเรียกช่างซึ่งเกือบทั้งหมดมีแต่ผู้ชายเข้ามาจัดการบ่อยๆ ซึ่งปัญหาเล็กๆ น้อยๆ บางอย่างเราก็แก้เองได้ ไม่ได้ยากขนาดที่จะต้องเรียกผู้เชี่ยวชาญ เพื่อความสบายใจ ถ้าเราแก้เองได้ก็จะดีกว่ามากเลยค่ะ

      กาวซิลิโคน ที่กำลังพูดถึงนี้คือแบบใสค่ะ ต่อไปนี้ขอเรียกว่า ซิลิโคนใส เฉยๆ นะคะ 

      ต้องบอกก่อนว่า ซิลิโคน มีหลายประเภทมากๆ เนื้อจะผสมสารบางอย่างเพื่อการใช้งานที่เหมาะสม แต่ ซิลิโคนใส แทบจะไม่ผสมอย่างอื่น เป็น ซิลิโคน เพียวๆ เนื้อมีความหยุ่น เหนียว กันน้ำกันฝุ่น ไม่นำไฟฟ้า ทนความร้อนสูงได้ ทาสีทับไม่ได้ แต่เลือกที่มันผสมสีมาตั้งแต่แรกแล้วได้ค่ะ อย่างตัวที่ช่างมุ้งมิ้งเอามาให้ดูนี้ก็มีทั้งแบบใสและแบบสีดำ 

       นอกจากนี้ ซิลิโคนใส ก็ยังมีหลายขนาด ถ้าจะมีไว้ใช้ฉุกเฉินสำหรับชาวหอพักใช้แค่หลอดเล็กก็พอค่ะ แต่ถ้าใช้ในบ้านกันรั่วกันซึมหลายจุดก็เลือกแบบหลอดที่ต้องใช้คู่กับปืนยิงจะคุ้มกว่า


ประโยชน์ของ ซิลิโคนใส

      ? ใช้ติดซ่อมแซมของใช้ต่างๆ

      ? ใช้ติดของประดับตกแต่งผนัง

      ? ใช้ติดขอบประตูหน้าต่าง (เหมาะกับช่วง PM หนักๆ แบบนี้พอดีเลยค่ะ)

      ? ใช้อุดรอยรั่วหลังคา กันแดดกันฝนได้

      ? ใช้กันซึมขอบซิงค์ อางอาบน้ำ อ่างล้างหน้า


      จะบอกว่า ซิลิโคนใส ไม่ได้ใช้ซ่อมแซมปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยในห้องน้ำเท่านั้น มันยังใช้ติดของต่างๆ บนพื้นผิวหลากหลายได้ด้วย ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับคนที่ชอบตกแต่งกำแพงหรือผนังห้อง

      ส่วนมากคนจะชอบใช้กาวสองหน้าติดตะขอเพื่อแขวนของตกแต่ง หรือไม่ก็เจาะผนังไปเลยใช่มั้ยคะ แต่แบบนั้นจะทำให้ผนังเสียหาย สีลอก หรือเป็นรู ทำให้เวลาอยากย้ายที่ ย้ายจุด หรือเอาออกเป็นเรื่องยาก ไม่สวยงาม ทิ้งร่องรอยไว้บนกำแพงสวยๆ ของเราค่ะ

      ซิลิโคนใส สามารถช่วยแก้ปัญหาพวกนั้นได้ ก็คือใช้ยึดของที่เราต้องการติดผนังได้เลย มันเอาออกง่ายกว่ามาก และไม่ทำให้ผนังเสียหายมากด้วย


     แต่โดยปกติทั่วไปมักจะใช้ ซิลิโคนใส เพื่อกันรั่วกันซึมค่ะ เช่น ปิดขอบหน้าต่าง ขอบอ่างล้างหน้า อ่างอาบน้ำ พื้นที่เปียกในห้องน้ำ หรือซิงค์ล้างจาน หรือจะใช้อุดรอยรั่วหลังคาก็ยังได้เลยค่ะ เอาอยู่ ช่วงหน้าฝนคนจะถามหากันเยอะ

      หรือใครจะใช้ช่วงฝุ่น PM เยอะแบบนี้ก็ได้นะคะ ปิดขอบประตูหรือหน้าต่างให้สนิท กันแอร์หรือเครื่องฟอกอากาศทำงานหนักเพราะอากาศรั่วไหล ช่วยประหยัดไฟ กันอากาศเข้าออกได้ค่ะ  


การยึดแน่นของ ซิลิโคนใส บนพื้นผิวต่างๆ 

      ของที่นำมาให้ทุกคนดูวันนี้ได้มาในราคาร้อยกว่าบาทค่ะ ข้างหลอดระบุว่ายึดติดกับทุกพื้นผิว ยกเว้นพลาสติกชนิด PP , PE และเทฟลอน เดี๋ยวจะมาทาลงบนพื้นผิวต่างๆ ให้ดูนะคะ แล้วก็จะลอกออกให้ดูด้วย มาดูกันว่าพื้นผิวไหนจะเสียหายหรือไร้รอยบ้าง


      ⚑ ความรู้เพิ่มเติม ⚑

      พลาสติก PP คือ โพลีโพรพิลีน (Polypropylene) มีลักษณะใส แสงผ่านได้ แข็งแรงทนทาน ทนความร้อนสูงถึง 150 องศาเซลเซียส ใช้ทำพวกถุงพลาสติก ถุงใส่ของร้อนเย็น หญ้าเทียม ชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

      พลาสติก PE คือ โพลีเอทิลีน (Polyethylene) เนื้อขุ่นกว่าชนิด PP ใช้ทำพวกขวดพลาสติก กระสอบ ของเล่นเด็ก ของใช้ในบ้าน ฉนวนหุ้มสายไฟ แผ่นฟิล์ม ฟิล์มยืด เชือก หรือท่อ HDPE เป็นต้น


      หลังจากการทดสอบพบว่า ซิลิโคนใส ใช้เวลาในการแห้งตามเนื้อที่บีบค่ะ ถ้าบีบหนาก็จะแห้งช้า แต่ถ้าทาบางๆ ประมาณ 3 ชั่วโมงก็แห้งสนิทดีแล้วค่ะ อันที่นำมาทดลองช่างมุ้งมิ้งมิ้งไว้ข้ามวันค่ะ เพราะบีบหนา แล้วห้องที่ทำการทดสอบอากาศก็ไม่ถ่ายเทค่ะ

ตัวอย่างพื้นผิวต่างๆ ที่จะนำมาทดสอบกับ ซิลิโคนใส

      ผลที่ออกมาเป็นตามรูปด้านล่างนี้เลย


1. การใช้ ซิลิโคนใส บนกระเบื้อง

      ยึดแน่นดี แกะออกด้วยมือไม่ได้ ใช้มีดแซะแล้วจะเอาออกง่าย แต่ถ้าอยากให้เรียบร้อยก็เป่าลมร้อนช่วย ถ้าเหลือเศษเล็กๆ น้อยๆ ก็ใช้ผ้าชุบน้ำสบู่หรือน้ำยาล้างจานเช็ด รอยจะเรียบร้อยมากค่ะ

การใช้ ซิลิโคนใส บนกระเบื้อง

2. การใช้ ซิลิโคนใส บนไม้

      ยึดแน่นดีค่ะ แกะออกด้วยมือไม่ได้ ใช้มีดแซะแล้วเอาออกง่าย แต่ถ้าอยากให้เรียบร้อยก็เป่าลมร้อนช่วย ถ้าเหลือเศษเล็กๆ น้อยๆ ก็ใช้ผ้าชุบน้ำสบู่หรือน้ำยาล้างจานเช็ด หรือใช้กระดาษทรายขัด รอยจะเรียบร้อยกว่า

การใช้ ซิลิโคนใส บนไม้

3. การใช้ ซิลิโคนใส บนอิฐ

      ยึดแน่นดีมาก แกะออกด้วยมือไม่ได้ เพราะมีร่องเลยเอาออกยาก ต้องใช้ของมีคมค่อยๆ แซะไปเรื่อยๆ แต่ถ้าอยากให้เรียบร้อยก็เป่าลมร้อนช่วย รอยจะเรียบร้อยขึ้น พื้นผิวจะลอกติดออกมาบ้าง แต่รอยไม่ได้เลวร้ายหรือน่าเกลียดอะไรค่ะ ถ้าเหลือเศษเล็กๆ น้อยๆ ก็ใช้ผ้าชุบน้ำสบู่หรือน้ำยาล้างจานเช็ด

การใช้ ซิลิโคนใส บนอิฐ

4. การใช้ ซิลิโคนใส บนปูน

      ยึดแน่นดีมาก เพราะ ซิลิโคน ซึมเข้าไปในเนื้อปูนซึ่งมีช่องว่างเล็กๆ น้อยๆ เยอะมาก แม้จะใช้มีดแซะก็จะเหลือรอยบางๆ ไว้เพื่อไม่ให้เนื้อปูนเสียหาย ควรระวังถ้าจะใช้กับผนังปูน ไม่เหมาะจะใช้ชั่วคราว แต่เหมาะกับการใช้ยึดติดถาวรมากๆ เลยล่ะค่ะ

การใช้ ซิลิโคนใส บนปูน

5. การใช้ ซิลิโคนใส บนเหล็ก

      ยึดแน่นดีมากเหมือนกันค่ะ แกะออกด้วยมือไม่ได้ ใช้มีดแซะแล้วเอาออกง่าย แต่ถ้าอยากให้เรียบร้อยก็เป่าลมร้อนช่วย ถ้าเหลือเศษเล็กๆ น้อยๆ ก็ใช้ผ้าชุบน้ำสบู่หรือน้ำยาล้างจานเช็ด รอยจะเรียบร้อยมาก

การใช้ ซิลิโคนใส บนเหล็ก

6. การใช้ ซิลิโคนใส บนท่อพลาสติก PVC

      อาจเพราะเป็นพลาสติก แม้จะไม่ได้ระบุไว้ข้างหลอดเหมือนกับ PP และ PE ซิลิโคน ก็เลยไม่ยึดเกาะดี แค่ใช้มือออกแรงมากหน่อยก็แงะออกได้แล้ว

การใช้ ซิลิโคนใส บนท่อพลาสติก PVC

7. การใช้ ซิลิโคนใส บนผ้า

      ถ้าทาบางๆ จะยึดแน่นดีกว่าค่ะ แต่ก็ยังไม่แน่นเท่าพื้นผิวอื่นๆ สามารถใช้มือออกแรงแงะออกได้เลย

การใช้ ซิลิโคนใส บนผ้า

สรุปการทดสอบ ซิลิโคนใส บนพื้นผิวต่างๆ

      – ไม่ยึดกับผ้าและท่อ PVC ที่เหลือติดแน่นดี 

      – ถ้าเป็นพื้นผิวเรียบๆ จะลอกออกง่าย แต่ข้อเสียก็คืออาจไม่แน่นเท่าพื้นผิวขรุขระ การแก้ไขคือใช้ ซิลิโคน ทาบางๆ ก็พอ จะแน่นดีกว่าทาหนาๆ

      – ถ้าเหลือเศษเล็กๆ น้อยๆ ให้ใช้ผ้าชุปน้ำสบู่หรือน้ำยาล้างจานเช็ด จะช่วยให้ลอกออกหมดจดยิ่งขึ้น


ทดสอบการกันน้ำของ ซิลิโคนใส 

      เนื่องจากมันระบุไว้ว่า ซิลิโคนใส ไม่ติดกับพลาสติกประเภท PP และ PE ก็เลยใช้ถ้วยกระดาษแทนแก้วพลาสติก เจาะเป็นรูตรงก้นถ้วยแล้วดูว่าน้ำผ่านได้มั้ย 

      ผลปรากฏว่ามันกันน้ำได้ดีเลยค่ะ แค่ทาบางๆ ก็เอาอยู่ น้ำไม่ซึมเลยแม้จะทิ้งไว้ตั้ง 30 นาทีก็ตาม

การทดสอบการกันน้ำของ ซิลิโคนใส

ทดสอบการทนความร้อนของ ซิลิโคนใส 

      การทดลองนี้ช่างมุ้งมิ้งว่าจะใช้น้ำร้อนอุณหภูมิปานกลางและสูง เอาเนื้อ ซิลิโคน ที่แห้งแล้วใส่ลงไปในถ้วยที่มีน้ำทั้งสองอุณหภูมิ ดูว่าเนื้อ ซิลิโคน จะละลายหรือเปล่าค่ะ แต่ว่าไม่มีเทอโมมิเตอร์ ก็เลยใช้เครื่องเป่าลมร้อนแทน เพราะมันปรับอุณหภูมิได้หลากหลายกว่า 

      ผลปรากฏว่ามันทำให้ ซิลิโคน นิ่มขึ้นเท่านั้น ไม่ถึงกับละลาย ช่วยให้การลอกออกง่ายขึ้น แต่ก็ไม่ได้หลุดออกจากสิ่งที่ยึดเลย ต้องใช้มีดหรือของมีคมช่วยแซะออกด้วย


วิธีการแกะออก ซิลิโคนใส ออก

1. ใช้มีดแซะ

      จริงๆ อุปกรณ์ที่จะใช้แซะ ซิลิโคนใส ออกมีหลายอย่างมาก มีที่ออกแบบมาเฉพาะด้วยนะคะ เลือกใช้กันได้แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละคนเลยค่ะ แต่เน้นที่มีคม ลักษณะบางและกว้าง จะได้แซะง่ายๆ 

     การใช้มีดหรือของมีคมแซะนั้นต้องระวังเป็นอย่างมาก ค่อยๆ แซะออก แต่จะใช้ได้กับพื้นผิวพวกกระเบื้อง ไม้ พลาสติก หรือโลหะมากกว่า เพราะถ้าใช้กับพื้นผิวประเภทอิฐหรือปูนจะทำให้พื้นผิวเสียหาย หลุดลอก ไม่สวยงามค่ะ

      วิธีนี้เหมาะกับพื้นผิวเรียบๆ ไม่ขรุขระอย่างเช่นเหล็ก ไม้ กระเบื้อง


2. เป่าลมร้อน

      วิธีนี้ลงตัวกับทุกพื้นผิว ใช้คู่กับมีดหรือของมีคมจะช่วยให้ลอกออกได้ง่ายยิ่งขึ้น อุปกรณ์ที่ใช้เป่าลมร้อนอาจเป็นไดร์เป่าผมที่ปรับความร้อนได้สูงหน่อย ประมาณ 270 องศาขึ้นไป หรือถ้าอุณหภูมิต่ำกว่านี้ก็ลองจ่อใกล้ๆ นานๆ ดูนะคะ หรือจะใช้เครื่องเป่าลมร้อนที่ใช้ในงานดัดท่อหุ้มพลาสติกก็ได้ แต่ต้องระวังไม่ให้พื้นผิวที่ ซิลิโคน ติดอยู่ไหม้

วิธีการลอก ซิลิโคนใส

เคล็ดลับการใช้ ซิลิโคนใส

      ตัดปากหลอดให้เฉียงประมาณ 30-45 องศา บีบ ซิลิโคน ลงไปในจุดที่ต้องการ แล้วใช้ไม้ที่เค้าให้มา ไม้ไอติม หรือผ้าขนหนูชุบน้ำสบู่หมาดๆ ถูเพื่อให้เนื้อ ซิลิโคน ซึมแน่นเข้าไปในร่องและช่องว่างต่างๆ ทั้งยังดูสะอาดตาด้วยค่ะ

     ***ก่อนจะลง ซิลิโคน ต้องกำจัดพวกฝุ่น ดิน หรือเศษผงต่างๆ ก่อนเสมอนะคะ มันจะได้ติดแน่นมากที่สุด


ความรู้สึกหลังจากได้ใช้ ซิลิโคนใส

      พูดถึงความประทับใจก็คือความเหนียว หนึบ แน่น แบบสัมผัสได้ตั้งแต่มันยังไม่แห้งเลยค่ะ เพราะจิ้มเนื้อดูแล้วมันติดมือ ล้างออกยากมาก คือถ้าประกบนิ้วเข้าด้วยกันแล้วปล่อยให้แห้งก็คือหายนะแน่นอน แงะกันลำบากแบบมีหนังหลุดแน่ๆ อย่าหาทำแบบช่างมุ้งมิ้งนะคะ (-*-;) 

      เพราะฉะนั้น ใครที่จะเอาไปใช้ระวังอย่าให้โดนมือนะคะ ทางที่ดีคือใส่ถุงมือไปเลยดีกว่า จะถุงมือผ้า ถุงมือยาง หรือถุงมือพลาสติกทำอาหารก็ได้ทั้งนั้น กันไว้ก่อน 

      แต่ถ้ามันติดมือก็ต้องรีบล้างเลยค่ะ ล้างด้วยสบู่หรือน้ำยาล้างจานก็ได้ ล้างแล้วเช็ดให้แห้ง แล้วล้างใหม่ซ้ำๆ จนกว่าจะรู้สึกว่าสะอาดดีแล้วค่ะ

      ส่วนความไม่ประทับใจก็คือกลิ่นค่ะ มันฉุนมาก ทั้งที่ข้างหลอดเขียนว่าไม่มีกลิ่น ตอนใช้ใส่แมสด้วยเถอะค่ะ จะได้ไม่เวียนหัว แล้วก็อย่าลืมเปิดหน้าต่างระบายอากาศด้วยนะคะ

      โดยรวมถือว่าดีค่ะ คุณภาพคุ้มกับราคา ช่างมุ้งมิ้งใช้หลอดใหญ่เลยต้องใช้ปืนยิงกาวด้วย ถ้าใครไม่ได้ใช้เยอะแนะนำเป็นหลอดเล็กนะคะ 


      เป็นยังไงกันบ้างคะ คอนเทนต์ที่ช่างมุ้งมิ้งนำมาฝากวันนี้ ใครชอบเนื้อหาแบบนี้หรืออยากให้ปรับปรุงตรงไหนก็คอมเมนต์มาบอกกันได้นะคะ 

      ถ้าชอบก็กดไลก์ ? หรือหัวใจ ❤ ข้างล่างให้ด้วยนะคะ เป็นกำลังใจให้ช่างมุ้งมิ้งหาอะไรดีๆ มาบอกเล่าต่อๆ ไปค่ะ (^-^)  


What do you think?

Comments

Comments

Loading…

0

Written by Aoily J.

Learning is never end.

สว่านไร้สาย

MAKITA สว่านไร้สาย สุดว้าว จากแดนอาทิตย์อุทัย

เครื่องมือช่าง CXT VS LXT MAKITA

เทคโนโลยี เครื่องมือช่าง MAKITA CXT,LXT คืออะไรแตกต่างกันอย่างไร