สาระดีๆ เรื่อง เครื่องมือช่าง กับช่างมุ้งมิ้ง พร้อมเสิร์ฟความรู้ให้กับทุกคนอีกแล้วค่ะ!
จากที่เริ่มต้นเข้าสู่วงการช่างไม้แบบงูๆ ปลาๆ จับเครื่องมือถูกบ้างผิดบ้าง แต่วันนี้ไม่เป็นอย่างนั้นแล้วค่ะ ไม่ใช่ว่าช่างมุ้งมิ้งเก่งขึ้นแล้ว (อาจจะเก่งขึ้นนิดหน่อย) ความจริงก็คือมีเทรนเนอร์งานไม้มาให้ข้อมูลแบบ Exclusive ต่างหาก ตัวไหนดีไม่ดี ชอบไม่ชอบ เค้าบอกแบบไม่กั๊ก ตอนเค้าทำงานช่างมุ้งมิ้งก็ไปจุ้นไปถามจนได้ข้อมูลชุดนี้มาค่ะ
บทความนี้จะพูดถึง เครื่องมือช่างไม้ และ เทคนิคหรือวิธีการใช้งานแบบมืออาชีพค่ะ เพราะช่างมุ้งมิ้งไปถามจากคนที่เค้าทำงานจริงๆ เครื่องมือช่างไม้ 15 ชิ้นนี้ก็เลยเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และจำเป็นต้องใช้ และจะเหมาะกับช่าง DIY หรือคนที่ทำงานคราฟต์เป็นหลัก เช่น เฟอร์นิเจอร์ขนาดเล็ก อย่างที่เทรนเนอร์ของเราทำ ซึ่งช่างมุ้งมิ้งก็ได้แนบ VDO มาให้ดูด้วย เค้าทำเป็นชั้นวางสำหรับเครื่องมือต่างๆ ในสตูดิโอ เป็นชิ้นงานขนาดเล็กถึงปานกลางค่ะ
ช่างมุ้งมิ้งคิดว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์มากๆ สำหรับคนที่ยังมองภาพ เครื่องมือช่างไม้ โดยรวมไม่ออก ไมรู้ว่าควรมีอะไรบ้าง ใช้ตอนไหน ควรหาเครื่องมือแบบไหนเพิ่มเติมหรือเปล่า เพื่อให้สามารถทำงานได้ลื่นไหล ไม่ติดขัด
เอาล่ะ เกริ่นมาเยอะแล้ว เราไปเข้าเรื่องกันดีกว่า!
15 เครื่องมือช่างไม้ สำหรับสาย DIY และงานคราฟต์
1. เครื่องมือวัดพื้นฐาน
งานไม้เป็นงานที่ต้องใช้ความแม่นยำ มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบและขนาดอีกที ฉะนั้น เครื่องมือช่าง สำหรับการวัดจึงจำเป็นมาก ยกตัวอย่างเช่น ไม้บรรทัด ไม้ฉาก ตลับเมตร หรือระดับน้ำ เป็นต้น นอกจากสเกลที่แม่นยำมันก็ยังช่วยให้การเข้ามุมได้เป๊ะ ระนาบไม่เอียง แน่นอนว่าต้องมีดินสอสำหรับทำเครื่องหมายการวัดด้วยนะคะ
2. โต๊ะทำงานอเนกประสงค์ และแผ่นไม้ MDF
โต๊ะทำงานจำเป็นมาก เพราะไม่อย่างนั้นคงต้องหลังขดหลังแข็ง แล้วก็จะหาที่วางชิ้นงานและเครื่องมือให้วุ่น
โต๊ะที่ใช้ทำงานไม้ที่ดีควรเป็นแผ่นไม้ MDF ที่มีรูให้ใช้กับเครื่องมืออื่นๆ ได้ เช่น แคลมป์จับชิ้นงาน เพราะมันจะช่วยให้ทำงานได้สะดวก จัดวางชิ้นงานยังไงก็ได้โดยที่ตัวคนทำงานแทบไม่ต้องเคลื่อนกายไปมา ซึ่งมีประโยชน์ต่อคนที่มีพื้นที่ทำงานน้อย สตูดิโอแคบ ไม่กว้างขวาง หรือต่อสายไฟเครื่องมือลำบาก
แผ่นไม้ MDF เจาะโดนได้ไม่เป็นไร ถ้าเสื่อมอายุการใช้งานก็เปลี่ยนแค่แผ่นไม้ได้ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งโต๊ะ
3. สว่าน
เป็น เครื่องมือช่าง ที่สำคัญอันดับต้นๆ เพราะงานไม้เป็นสิ่งที่ต้องเจาะและยึดเข้าด้วยกัน ถึงจะออกมาเป็นรูปเป็นร่าง และนอกจากนี้ก็ยังใช้เพื่อเจาะนำขั้นตอนต่างๆ ได้ด้วย เช่น เจาะนำการเซาะไม้ตามแบบหรือระยะที่ต้องการ เหมือนใน VDO ด้านล่าง ซึ่งจะใช้เป็น สว่านไร้สาย หรือมีสายก็ได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าสะดวกแบบไหน
🌟 Tips 🌟 ถ้างบน้อยควรเลือกตัวที่เป็นทั้งสว่านและไขควงกระแทกในตัวเดียว จะประหยัดทั้งงบประมาณในการซื้อเครื่องมือและชุดแบตเตอรี่
สว่านไฟฟ้าไร้สาย ที่เทรนเนอร์เค้าแนะนำมาคือ Makita สีเขียวโอลีฟค่ะ รุ่น TD173 18V Brushless ช่างมุ้งมิ้งลองจับและใช้ดูแล้ว ขนาดมันพอดีมือมากค่ะ ผู้หญิงก็ใช้ได้แน่นอน และที่สำคัญมันใช้ได้ทั้งเจาะไม้และขันสกรูในตัวเดียว ไม่ต้องซื้อแยกระหว่างสว่านและไขควงกระแทกค่ะ
4. แคลมป์ หรือ มือจับชิ้นงาน
เป็นตัวช่วยในการทำงานคนเดียวได้ดี เพราะไม่ว่าจะตัด ขัด เจาะ เซาะ ก็ต้องทำให้ชิ้นงานอยู่นิ่งๆ ไม่อย่างนั้นก็ทำไม่ได้ แต่เราก็ไม่สามารถขอให้ใครมาช่วยงานเราได้ตลอดเวลาถ้าเค้าไม่ใช่ลูกจ้างเราหรอกใช่มั้ยคะ
แคลมป์มีหลายแบบมาก เพื่อให้เหมาะกับการจับไม้ในลักษณะต่างๆ เช่น จับตั้ง จับเฉียง หรือจับระนาบขนานพื้น ขึ้นอยู่กับความต้องการ และโต๊ะที่ใช้กับแคลมป์ได้สะดวกมากๆ ก็คือโต๊ะไม้ MDF ที่พูดถึงไปในข้อที่ 1. ค่ะ
5. เลื่อย
เป็น เครื่องมือช่าง ที่ขาดไม่ได้เลยในงานไม้ เป็นสิ่งแรกที่เราต้องใช้ เพราะต้องตัดขนาดไม้ให้ได้ตามแบบหรือตามที่ต้องการ จะใช้เลื่อยมือหรือเลื่อยไฟฟ้าก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกและงบประมาณของผู้ใช้เอง เลื่อยมือต้องใช้แรงและเวลาเยอะหน่อย แต่เสียงไม่ดังหนวกหู แต่ถ้าใครต้องการความง่ายและเร็วก็ใช้เลื่อยไฟฟ้า เวลาทำงานก็ใส่ที่ครอบหูเอาค่ะ
🌟 Tips 🌟 กรณีใช้ เลื่อยมือ สำหรับคนแรงน้อยให้เลือกใช้เลื่อยญี่ปุ่นค่ะ ออกแบบมาสำหรับคนเอเชีย เวลาใช้งานให้ดึงเข้าหาตัวค่ะ แรงกดที่ต้องใช้จะน้อยกว่าเลื่อยฝั่งตะวันตก
6. ทริมเมอร์ หรือ เครื่องเซาะร่อง
ทริมเมอร์ก็คือเราเตอร์นั่นเองค่ะ มันใช้ทำร่อง เจาะร่อง ขัดขอบผิว เข้ามุมโค้ง ลบขอบมุม ทริมเมอร์มีหลายขนาด แตกต่างกันทั้งกำลังและความเร็ว เครื่องเล็กสเป็คจะน้อยกว่า แต่ข้อดีอยู่ที่ความกะทัดรัดและคล่องตัวค่ะ เวลาใช้ทริมเมอร์มือต้องนิ่งพอสมควรถึงจะได้รูปร่างหรือลวดลายตามต้องการ
ตัวที่เทรนเนอร์ใช้ใน VDO เป็นของ PUMA ทริมเมอร์ไร้สาย รุ่น PM-650T ตัวนี้ทรงพลังมากค่ะ เห็นตัวเล็กๆ แบบนี้ก็ใช้เจาะไม้เนื้อแข็งได้นะคะ เจาะได้ลึกถึง 30 มม. ตัวมันระบายความร้อนได้ดีเลยค่ะ ก็เลยใช้ติดต่อกันนานๆ ได้ แล้วก็ยังสามารถต่อเข้ากับเครื่องดูดฝุ่นได้ด้วย ฐานครอบใส ตอนใช้จะเห็นชิ้นงานและทิศทางการเซาะได้ดี หรือถ้าไม้ชอบจะถอดออกก็ได้ค่ะ แต่อย่าลืมสวมแว่นตานิรภัยเวลาทำงานนะคะ
7. สว่านแท่น
ตัวนี้ช่างมุ้งมิ้งมองว่าจะมีหรือไม่มีก็ได้ค่ะ ถ้าคนที่วัดแม่นเจาะแม่น หรือมีจิ๊กเจาะแบบต่างๆ อยู่แล้วใช้แค่สว่านไฟฟ้าตัวเดียวก็ได้ แต่ถ้าใครไม่เก่งเรื่องการวัด และเจาะไม่แม่นยำ เอียงบ้างตรงบ้าง แถมไม่มีจิ๊ก โดยเฉพาะในงานเจาะเดือยกลม ซึ่งต้องการความแม่นยำ เป๊ะ รูต่างๆ ต้องตรงกันอย่างยิ่งเพื่อการประกอบที่พอดีกัน สว่านแท่นจะช่วยได้มาก แถมยังเจาะไม้หนาๆ ได้ตรง ไม่เอียง ไม่ต้องออกแรงมาก
8. โต๊ะเราเตอร์
มันคือโต๊ะสำหรับยึดเราเตอร์ค่ะ เป็นแค่โต๊ะเฉยๆ มีเราเตอร์ของอะไรอยู่แล้วก็ใช้มันประกอบเข้าด้วยกัน อย่างใน VDO เทรนเนอร์เค้าก็ใช้เราเตอร์ของ BOSCH ค่ะ โต๊ะนี้เป็นของ Kreg (รุ่น PRS2100) ออกแบบมาเพื่อไม่ให้เราต้องถือเราเตอร์ตัวใหญ่ๆ หนักๆ ซึ่งทำงานลำบากและกินแรงมาก ถ้ามีโต๊ะก็จะได้จับแค่แผ่นไม้เคลื่อนไปมาเอา ช่วยให้การทำงานง่ายและคล่องตัวขึ้นมาก บังคับทิศทางที่ต้องการขัดหรือเจาะได้สะดวก
🌟 Tips 🌟 เทคนิคการใช้ให้ดียิ่งขึ้นคือการเจาะนำก่อนค่ะ จะได้รู้ว่าต้องเลื่อนแผ่นไม้ไปทางไหนบาง ระยะเท่าไหร่ ถ้าเป็นเส้นตรงใช้ราง บาร์ หรือแคลมป์ช่วย จะทำงานง่ายสุดๆ เลยล่ะค่ะ
9. จิ๊กเจาะรู
การติดกาวอย่างเดียวไม่อาจทำให้ไม้ติดกันแน่น ยิ่งถ้าเป็นของที่ต้องรองรับน้ำหนักก็ต้องมีการใส่เดือยเพื่อเพิ่มความแข็งแรง ซึ่งเดือยมีหลายแบบหลายรูปร่าง ต้องเลือกให้เหมาะกับงาน แต่ที่นิยมจะเป็นจิ๊กเจาะแบบกลม เพราะใช้สว่านเจาะได้เลย แต่ก็ยังมีให้เลือกแบบเจาะตรง ตั้งฉากกับไม้ หรือเจาะเอียง
ทำไมต้องเจาะเอียง?
เหตุผลที่เห็นได้ชัดคือการลงสกรูจากด้านในได้ค่ะ ทำให้ไม่ต้องอุดหัวสกรูเพื่อความสวยความเหมือนการเจาะตรงในภายหลัง และยังเข้ามุมได้ดี ทำรูปแบบงานได้หลากหลาย สร้างสรรค์ ไม่น่าเบื่อเหมือนการเข้าแต่มุมฉากเดิมๆ และการประกอบไม้บางๆ สกรูก็ไม่ทะลุด้วย
ใน VDO เทรนเนอร์เค้าใช้ของ Kreg ค่ะ ตัวนึงเจาะได้ 3 รูติดกัน
10. เครื่องยิงแม็กลม
สำหรับงานขนาดเล็กที่ใช้ไม้บางจนไม่สามารถใช้สกรูในการยึดประกอบได้ การยิงด้วยแม็กลมจะช่วยให้งานประกอบแข็งแรงมากพอ ความยาวลูกแม็กสามารถเลือกได้ เวลายิงจะไม่ทะลุไม้
11. กาวติดไม้
กาวติดไม้ มีความสำคัญมากในขั้นตอนการประกอบงานไม้ ก่อนจะยิงแม็กหรือใส่สกรูควรยึดตำแหน่งไม้แต่ละชิ้นให้คงที่ก่อน งานประกอบจึงจะไม่ออกมาบูดๆ เบี้ยวๆ หรือคลาดเคลื่อน
กาวติดไม้ ดีกว่า กาวลาเท็กซ์ทั่วไปยังไง?
อันนี้ช่างมุ้งมิ้งก็ถามเทรนเนอร์มาแล้วค่ะ กาวติดไม้มันทำมาเพื่อให้ไม้ยึดติดกันโดยเฉพาะ และที่สำคัญคือจะแห้งเร็วกว่ากาวทั่วไปมากค่ะ ถ้าทาหนาๆ ก็ไม่ต้องรอข้ามวันข้ามคืนเพื่อให้แห้งสนิท
12. สีโป๊วไม้
การใช้แม็กยิงลมแทนการใส่สกรูยึดจะทำให้เกิดรูเล็กๆ ขึ้นมา ส่งผลให้งานดูไม่สวย ไม่เรียบร้อย มีตำหนิ สีโป๊วไม้ ก็คือตัวช่วยที่เอามาใช้อุดรูเล็กๆ เหล่านั้น
🌟 Tips 🌟 ก่อนอื่นให้เลือกสีที่เข้ากันได้ดีกับไม้ที่เราใช้ก่อน หยอดสีลงไปในรู รอให้แห้งเล็กน้อย เอาแค่ไม่ไหลก็พอ ไม่ต้องแห้งสนิทมาก เมื่อขัดอีกครั้งด้วยกระดาษทราย เศษไม้ที่ขัดจะเข้าไปอุดในรู รวมเป็นเนื้อเดียวกับสีโป๊วไม้ ก็จะทำให้รูที่อุดเนียนขึ้นมาก
13. กระดาษทราย / ฟองน้ำขัดไม้
ขั้นตอนการเก็บงาน เครื่องมือที่ขาดไม่ได้เลยก็คือกระดาษทรายค่ะ เพราะมันจะช่วยเก็บรายละเอียดบนผิวไม้ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรอยดินสอที่ร่างหรือเขียนกำกับไว้, กาวที่เกินออกมาตามขอบมุมต่างๆ, รอยตำหนิที่มากับไม้ระหว่างขนส่ง, ร่องรอยการใช้เครื่องมือ หรือแม้กระทั่งส่วนที่หนาหรือเอียงไม่เท่าส่วนอื่นๆ ก็ใช้กระดาษทรายค่อยๆ ขัดออกได้
14. น้ำยารักษาเนื้อไม้
เมื่อเวลาผ่านไป อากาศ ความชื้น อุณหภูมิ จะมีผลต่อเนื้อไม้ อาจทำให้ไม้สีซีด เปราะ แตกหรือหักง่าย หรือขึ้นรา การทาน้ำยารักษาเนื้อไม้จะช่วยป้องกันปัญหาเหล่านั้นได้ ช่วยให้งานของเรามีความทนทานต่อปัจจัยแวดล้อมมากขึ้น นอกจากนี้สีและลายไม้ก็จะชัดขึ้นด้วย
15. น้ำเคลือบไม้ (แว๊กซ์)
น้ำยาเคลือบไม้มักมีลักษณะลื่น มันวาว กันน้ำ ช่วยปกป้องไม้ได้มากกว่าการทาน้ำยารักษาเนื้อไม้แค่อย่างเดียว ถ้ามีรอยขีดข่วนก็ทำความสะอาดง่าย และยังเพิ่มความสวยงามให้กับงานด้วย
สรุปเนื้อหา
15 เครื่องมือช่างไม้ ที่กล่าวมาทั้งหมด ช่างมุ้งมิ้งทำตารางการใช้งานให้เห็นภาพชัดๆ ด้วย เผื่อใครจะพิจารณาดูอีกทีว่าตัวไหนควรมีอะไรเพิ่ม หรือตัวไหนใช้เครื่องมืออย่างอื่นแทนกันได้บาง
ใครมีคำถามหรืออยากรู้ข้อมูลเครื่องมือแบบไหนเพิ่มเติม สามารถคอมเมนต์เข้ามาพูดคุยกันได้นะคะ เราจะหามาตอบค่ะ
Comments