อุปกรณ์เซฟตี้เป็นสิ่งสำคัญมากเวลาทำงาน เพื่อป้องกันอวัยวะที่อาจเกิดอันตรายจนบาดเจ็บหนัก พิการ หรือเสียชีวิต อุปกรณ์เซฟตี้มีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น แว่นตา ถุงมือ รองเท้า ที่ครอบหู เสื้อกั๊ก กางเกง และหมวก โดยที่ช่างมุ้งมิ้งจะพูดถึงในบทความนี้ก็คือ หมวกนิรภัย ค่ะ
หมวกนิรภัย (ภาษาอังกฤษ : Helmet / Safety Helmet / Hard Hat) เป็นเครื่องป้องกันศีรษะ ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของร่างกาย ดังนั้น จึงมีข้อบังคับการผลิตและการใช้ที่เหมาะสมหลายข้อ ซึ่งได้แก่ ประเภท คลาส และสี
นอกจากนั้น หมวกนิรภัย ยังมีฟังก์ชันเสริมที่อาจครอบคลุมการใช้หูฟัง แว่นตา และไฟฉายในตัวได้ด้วย เป็นส่วนที่สามารถติดตั้งหรือต่อเข้ากับ หมวกนิรภัย ได้อย่างสะดวก เพื่อลดความซับซ้อนในการใช้งานสำหรับอาชีพพิเศษที่ต้องการการป้องกันหลายอย่าง และช่วยให้เตรียมตัวทำงานได้รวดเร็วขึ้น เช่น อาชีพนักดับเพลิง หน่วยกู้ภัย หรือคนที่ขึ้นทำงานบนที่สูง เช่น คนตัดไม้ คนเลื่อยไม้ เป็นต้น
ประเภท หมวกนิรภัย
OSHA (Occupational Safety and Health Administration) คือ องค์กรที่กำหนดข้อบังคับการใช้ หมวกนิรภัย และอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยอื่นๆ โดยยึดตามสถานที่ทำงานและอาชีพเป็นหลัก ประเภท สี และคลาสของ หมวกนิรภัย จึงสามารถช่วยให้เราเลือกใช้งานได้ง่ายขึ้นค่ะ
แบ่งตามประเภทพื้นฐาน
✦ หมวกนิรภัย ประเภทที่ 1
ช่วยลดแรงกระแทกจากส่วนบนของศีรษะเท่านั้น เหมาะจะใช้กับงานภายในอาคารที่ต้องระวังเรื่องสิ่งของที่อยู่สูงๆ เช่น โรงงานหรือคลังสิ้นค้า และของไม่ควรหนักเกินไปหรือมีคมแหลม
✦ หมวกนิรภัย ประเภทที่ 2
ช่วยลดแรงกระแทกจากทั้งด้านบนและด้านข้าง เหมาะกับงานภายนอกอาคาร เพราะป้องกันของที่ลอยมากระแทกศีรษะได้ด้วย ไม่ใช่แค่ของที่ตกลงมาอย่างเดียว
แบ่งตามการป้องกัน
✧ หมวกนิรภัย ป้องกันทั่วไป
หรือเรียกอีกอย่างว่า หมวกนิรภัย มาตรฐานอุตสาหกรรม ใช้ในงานทั่วไปทั้งหมดที่ไม่ได้มีความเสี่ยงสูงมากนัก เช่น ในโรงงาน ไซต์งานก่อสร้าง ในคลังสินค้า โดยต้องเป็นบริเวณที่ไม่ได้มีของหนักหรืออันตรายเกินไปซึ่งอาจเจาะทะลุ หมวกนิรภัย ได้
✧ หมวกนิรภัย กันกระแทก
วัสดุและการออกแบบจะมีความทนทานท่อสภาพอากาศมากขึ้น แข็งแรงมากขึ้น แต่มันก็ไม่ได้ให้การป้องที่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอกนะคะ อาจก่อให้เกิดบาดแผลตื้นๆ พวกหัวปูดหัวโนหรือแผลถลอกเล็กๆ น้อยๆ ดังนั้น จึงไม่เหมาะจะใส่ในบริเวณที่อาจมีของตกลงมาได้ โดยเฉพาะของที่หนักและแหลมคม
แต่มันจะกันของที่ลอยมาจากทิศทางอื่น และกันเวลาหัวไปชนกับของอื่นๆ แทน ใช้ในสภาพแวดล้อมทางอุตสาหกรรมที่ความเสี่ยงน้อย เช่น พนักงานบำรุงดูแลรักษาระบบ ช่างประปา และคนที่ทำงานภาคเกษตร เป็น หมวกนิรภัย ประเภทที่ให้การป้องกันน้อยที่สุด
✧ หมวกนิรภัย ประสิทธิภาพสูง
จะทนทานต่อการเจาะทะลุด้วยของหนักและของมีคมระดับหนึ่งค่ะ ใช้กับงานที่เป็นอันตราย เช่น งานก่อสร้างขนาดใหญ่ งานซ่อมถนน และงานที่อยู่ใกล้เครื่องจักรขนาดใหญ่ เช่น เครน เป็นต้น หมวกนิรภัย ประเภทนี้สามารถกระจายแรงกระแทกได้ดี ใช้ในพื้นที่ที่อาจมีของหนักหล่นใส่ศีรษะได้
✧ หมวกนิรภัย ป้องกันไฟฟ้า
หมวกนิรภัย สำหรับช่างไฟฟ้าโดยเฉพาะ เพราะทำจากวัสดุที่เป็นฉนวน ป้องกันกระแสและความดันไฟฟ้าได้ แต่เพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น โดยอาจป้องกันได้ตั้งแต่ระดับ 440-20,000 โวลต์เลยล่ะค่ะ ต้องอ่านคำแนะนำการใช้งานให้ดีๆ ก่อนซื้อหรือใช้งานนะคะ และต้องรักษาสติกเกอร์ความปลอดภัยที่ติดมาในหมวกให้ดีๆ เวลาคนอื่นนำไปใช้จะได้ระวังตัวค่ะ
✧ หมวกนิรภัย สำหรับงานป่าไม้
งานป่าไม้นี้หมายถึงด้านอุตสาหกรรมค่ะ เช่น ตัดไม้ ขนไม้ เลื่อยไม้ ซึ่งรวมถึงคนที่ต้องปีนป่ายต้นไม้สูงๆ ด้วย มันจะมาพร้อมสายรัดเลย เพื่อให้สวมแน่นกับหัว ไม่หลุดขณะทำงานหรือตอนหล่นจากต้นไม้โดยอุบัติเหตุ สามารถติดหูฟังหรือหน้ากากเสริมได้ด้วยค่ะ
✧ หมวกนิรภัย สำหรับนักดับเพลิง
นักดับเพลิงและเจ้าหน้าที่เผชิญเหตุฉุกเฉินนั้น ต้องเจอกับอันตรายที่มากมายหลายอย่าง ทั้งไฟ ความร้อนสูง ก๊าซ ควัน วัสดุที่ใช้ทำ หมวกนิรภัย จึงมีความทนทานมากกว่า หมวกนิรภัย ชนิดอื่นๆ โดยอาจทำจากเคฟล่าร์ซึ่งมีความแข็งแรงทนทานสูงเป็นพิเศษ และยังต้องมีแถบสะท้อนแสงเพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจนในสถานการณ์ที่มีแต่ควันบดบังสายตา และอาจมีที่ให้ติดตั้งหน้ากากและไฟฉายด้วย
คลาสของ หมวกนิรภัย
มาตรฐาน ANSI ได้แบ่ง หมวกนิรภัย เป็นคลาสต่างๆ 3 แบบ ได้แก่
☆ หมวกนิรภัย คลาส G
ย่อมาจาก General หมายถึง หมวกนิรภัย ทั่วไปที่สามารถป้องกันแรงดันไฟฟ้าสูงถึง 2,200 โวลต์ได้
☆ หมวกนิรภัย คลาส C
ย่อมาจาก Conductive เป็น หมวกนิรภัย ที่ไม่สามารถต้านทานแรงดันไฟฟ้าได้เหมือนอีกสองคลาส แต่มีคุณสมบัติระบายอากาศได้ดี เหมาะกับคนที่ทำงานในที่อับอากาศหรือมีความร้อนสูง เช่น คนขุดเหมือง เป็นต้น
☆ หมวกนิรภัย คลาส E
ย่อมาจาก Electrical หมายถึง หมวกนิรภัย สำหรับคนที่ต้องการการป้องกันไฟฟ้าแรงสูง โดยสามารถทนแรงดันไฟได้ถึง 20,000 โวลต์
สีของ หมวกนิรภัย
คนในที่ทำงานสามารถแยกตำแหน่งหน้าที่งานของคนอื่นได้จากสีของ หมวกนิรภัย ค่ะ โดยแต่ละสีจะบอกหน้าที่ ดังนี้
1. หมวกนิรภัย สีเหลือง
สำหรับคนทำงานที่ใช้แรงเป็นหลัก รับคำสั่งจากคนบางกลุ่มเพื่อทำงานตามหน้าที่ของตัวเอง ส่วนมากจะเป็นงานเกี่ยวกับการขนย้าย แบกหาม หรืองานที่เกี่ยวกับหิน ดิน ปูน
2. หมวกนิรภัย สีขาว
สำหรับระดับหัวหน้างาน ผู้บริหาร ผู้จัดการ วิศวกร หรือสถาปนิก
3. หมวกนิรภัย สีเขียว
สำหรับคนที่ตรวจเช็คความปลอดภัยต่างๆ ในสถานที่ทำงาน
4. หมวกนิรภัย สีน้ำเงิน
สีน้ำเงินหรือสีฟ้า ใช้สำหรับช่างไม้ ช่างไฟ ช่างชำนาญการพิเศษ หรือคนงานชั่วคราว
5. หมวกนิรภัย สีเทา
สำหรับคนที่เข้าชมไซต์งานด้วยเหตุผลบางประการ ไม่มีหน้าที่ใดๆ
6. หมวกนิรภัย สีน้ำตาล
สำหรับช่างเชื่อม ช่างเหล็ก หรือคนที่ทำงานใกล้ความร้อนสูง ไม่ได้บังคับใช้ ดังนั้น จึงจะเห็นว่ามีคนใช้งานน้อยมาก นอกจากหมวกที่ทำมาโดยเฉพาะ ซึ่งจะผลิตออกมาเป็นสีน้ำทั้งหมด และเป็นวัสดุพิเศษที่กันสะเก็ดไฟได้
7. หมวกนิรภัย สีแดง
สำหรับนักดับเพลิง พนักงานฉุกเฉิน หรือคนที่เข้าเยี่ยมชมไซต์งานเช่นกัน ซึ่งคนคนนั้นอาจมีอำนาจหน้าที่หรือการตัดสินใจพิเศษบางอย่าง
8. หมวกนิรภัย สีส้ม
สำหรับงานที่เกี่ยวกับถนนหรือการสัญจรภายในพื้นที่ มีหน้าที่บอกหรือชี้นำทิศทางในการเคลื่อนเครื่องจักรหรือยานยนต์ขนาดใหญ่
9. หมวกนิรภัย สีชมพู
เป็นสีที่ไม่ได้บังคับใช้ค่ะ เป็นทางเลือกสำหรับองค์กรที่ให้ความสำคัญหรือต้องการแยกคนงานหญิงออกจากคนงานชาย
การเลือก หมวกนิรภัย ที่เหมาะสมตามหลักสากล
นอกจากเลือกสีและประเภทตามข้อมูลด้านบนแล้ว วิธีที่จะเลือก หมวกนิรภัย ตามหลักสากลก็คือดูจากการรับรองคุณภาพมาตรฐานต่างๆ ดังนี้ค่ะ (เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งก็พอ)
⭐ มาตรฐาน CE ⭐
สำหรับ หมวกนิรภัย ที่ผลิตในยุโรป จะแสดงเป็น EN ทั้งหมด 4 ระดับ ซึ่งจะให้การป้องกันที่แตกต่างกันไป เช่น EN 397 แสดงถึง หมวกนิรภัย ที่ให้การป้องกันต่ำสุด EN 14052 แสดงถึง หมวกนิรภัย ที่มีประสิทธิภาพสูง EN 50365 จะแสดงถึง หมวกนิรภัย ที่ทนแรงดันไฟฟ้าต่ำได้ ที่เหลือก็ดูได้จากเอกสารประกอบสินค้า เค้าจะมีระบุไว้ค่ะ
⭐ มาตรฐาน ANSI ⭐
สำหรับ หมวกนิรภัย จากสหรัฐฯ จะใช้มาตรฐาน ANSI/ISEA ส่วนระดับการป้องกันก็คือคลาสที่ได้พูดถึงไปแล้วด้านบนนั่นเองค่ะ ส่วนมากจะเห็นมาตรฐานนี้มากกว่ามาตรฐานยุโรป อาจเพราะมีนำเข้ามาจำหน่ายมากกว่าค่ะ
Comments