เลื่อยสายพาน โดยทั่วๆไปเราจะเรียกกันตามความยาวของเส้นผ่านศูนย์กลางล้อของเครื่อง เช่น เลื่อยสายพานขนาด 16 นิ้ว หมายถึงความยาวของเส้นผ่านศูนย์กลางของวงล้อ เท่ากับ 16 นิ้ว หรือถ้าเราไม่วัดความยาวเส้นผ่านศูนย์กลางวงล้อก็อาจวัดความยาวระยะห่างระหว่างใบเลื่อยทั้งสองข้างทางด้านตั้งก็ได้ ความเร็วของเลื่อยสายพานจะมีการวัดไม่เหมือนกับเครื่องจักรกลงานไม้ชนิดอื่นๆ
เลื่อยสายพาน ที่ใช้กับงานไม้ มี 2 ชนิด
- Band Mill เป็นเลื่อยสายพานที่มีขนาดใหญ่ใบเลื่อยกว้างใช้ในการเล่นเปิดปีกไม้ออกจากท่อนซุง แล้วผ่าซอยออกเป็นไม้หน้าตัดสี่เหลี่ยมขนาดต่างๆ ใช้เฉพาะในโรงเลื่อยจักรและโรงงานแปรรูปไม้
- Band Saw หรือ Band Scroll Saw เป็นแบบที่ใช้กันทั่วไปการซอยไม้ออกเป็นไม้กระดานแผ่น บางๆ การซอยและตัดโค้งทุกชนิด การซอยไม้หรือตัดไม้ที่มีความหนา มากๆ การผ่าเดือย ตัดปากกบไม้ และงานเลื่อยอื่นๆ ที่เลื่อยวงเดือนและเลื่อยรัศมีทำไม่ได้
ส่วนประกอบของ เลื่อยสายพาน
- โครงเครื่อง (Frame) จะมีน้ำหนักมาก ทำจากเหล็กหล่อหรืออาจจะเป็นเหล็กแผ่น ที่นำมาเชื่อมเป็นโครง สำหรับติดตั้งล้อบนและล้อล่างที่ขับเคลื่อนใบเลื่อยสายพาน นอกจากนี้ตัวเครื่องยังอาจติดตั้งบนฐานเครื่องอีกด้วย
- แท่นเครื่อง (Table) ทำด้วยเหล็กหล่อยึดติดกับโครงเครื่อง เป็นที่สําคัญงานขณะปฏิบัติงาน แท่นเครื่องนี้สามารถปรับเอียงได้ถึง 45 องศา เมื่อต้องการของ ตัดไม้ที่มีมุมเอียง
- ล้อตัวบน (Upper Wheel) ยึดติดกับโครงเครื่องด้านบน ขอบนอกเป็นยางหุ้มเพื่อช่วยให้ใบเลื่อยกระชับไม่ลื่นไถลออกจากล้อ สามารถปรับเลื่อนขึ้นลงได้ เพื่อให้ใบเลื่อย ตึงและเพื่อการเปลี่ยนใบเลื่อย
- ล้อตัวล่าง (Lower Wheel) เป็นตัวขับให้ใบเลื่อยหมุน ซึ่งส่งกำลังมาจากมอเตอร์ ที่ขอบของล้อจะมีแผ่นยางหุ้มโดยรอบ เพื่อไม่ให้ใบเลื่อยลื่นไถลออกจากล้อ
- ที่ป้องกันใบเลื่อย (Blade Guard) ทำด้วยโลหะหรือวัสดุอื่น คลุมใบเลื่อยในแนวดิ่ง ยึดติดกับแกนเลื่อน สามารถปรับเลื่อนขึ้นเลื่อนลงได้
- ชุดประคองใบเลื่อย (Blade Guide) มีส่วนประกอบคือ ล้อหลังใบเลื่อย (Ball Bearing Blade Support) และล้อบังคับข้างใบเลื่อย ชุดประคองใบเลื่อยนี้สามารถเลื่อนขึ้นลงได้แท่งยึด
- ที่ปรับความตึงใบเลื่อย (Blade Tension) สำหรับการปรับใบเลื่อยสายพานให้ตึง ติดตั้งอยู่ใต้โครงล้อบน
- ที่ปรับใบเลื่อยให้อยู่ในแนวการหมุน (Tracking Adjustment) เป็นที่ปรับล้อบน เพื่อให้เอียง คว่ำหรือหงาย สำหรับประคองใบเลื่อยไม่ให้หลุดจากล้อในขณะหมุน
- ครอบล้อบนและล่าง (Upper and Lower Wheel Guard) เป็นฝาครอบ สำหรับล้อบนและล้อล่าง เพื่อป้องกันอันตรายในขณะหมุน
- แท่งยึดชุดประคองใบเลื่อย (Guide Post) ทำด้วยเหล็กแท่งตัน ติดตั้งที่ป้องกันใบเลื่อย และที่ปลายด้านล่างจะติดตั้งชุดประคองใบเลื่อย
- มอเตอร์ (Motor) ติดตั้งอยู่กับโครงเครื่องตรงกับแกนล้อล่าง เป็นตัวขับเคลื่อน ล้อล่างเพื่อให้ใบเลื่อยหมุน
ใบเลื่อยสายพาน (Band Saw Blades)
ขนาดของใบเลื่อยสายพาน วัดกันที่ความกว้างของใบเลื่อย และความหนาของใบเลื่อย จะต้องสัมพันธ์กันตามมาตรฐานการผลิต เช่น ใบเลื่อยที่ใช้กับเลื่อยสายพาน สำหรับการตัดไม้ จะมีความกว้างใบเลื่อย ขนาด ⅜ นิ้ว, ½ นิ้ว, ¾ นิ้ว และ 1 นิ้ว เป็นต้น
จำนวนฟันของใบเลื่อยจะมีผลต่อการทำงานของใบเลื่อย หมายความว่าในความยาวใบเลื่อย 1 นิ้ว จะมีฟันอยู่ 4 ถึง 8 ฟัน หากจำนวนฟันน้อย คลองเลื่อยที่ได้จะมีลักษณะหยาบ ถ้ามีจำนวนฟันมาก จะทำให้คลองเลื่อยมีลักษณะละเอียดกว่า และทำงานง่ายกว่า
การถอดเปลี่ยน ใบเลื่อยสายพาน
การถอดและเปลี่ยนใบเลื่อยสายพานเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องระมัดระวัง การปรับส่วน ต่างๆ ให้ถูกต้องเมื่อเปิดเครื่อง ใช้งานจะได้ไม่เกิดอันตรายกับผู้ใช้ มีขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. เปิดฝาครอบล้อบนและล่าง นำแผ่นปิดช่องใบเลื่อยออก
2. หมุนคลายที่ปรับความตึงของใบเลื่อย (Blade Tension) เพื่อลดล้อบนให้เลื่อนลงทำให้ใบเลื่อยคลายความตึงและหย่อนตัว3. ใช้ทั้งสองมือจับใบเลื่อย และค่อยๆ ถอดใบเลื่อยออกจากล้อบนและล้อล่าง
4. นำใบเลื่อยใบใหม่ที่เตรียมไว้ ใส่เข้าไปในล้อบนและล้อล่างให้ฟันใบเลื่อยชี้ลง ถ้าใบ เลื่อยใบใหม่มีความยาวหรือสั้นกว่าให้ปรับที่ Blade Tension เพื่อเลื่อนล้อบนให้ได้ระยะ
5. จัดใบเลื่อยให้อยู่บนขอบวงล้อ และให้อยู่ตรงกับแนวชุดประคองใบเลื่อย
6. หมุนปรับความดึงของใบเลื่อย ให้ล้อบนเลื่อนขึ้นเพื่อตึงใบเลื่อย ควรปรับให้ความตึงของใบเลื่อยพอประมาณ ไม่ควรให้ตึงหรือหย่อนเริง
7. ใช้มือลองหมุนที่ล้อบนทิศทางตามเข็มนาฬิกา เพื่อตรวจสอบการหมุนของใบเลื่อยว่าอยู่ในแนวขอบล้อ โดยไม่เลื่อนหลุดออกจากล้อ หากใบเลื่อยเคลื่อนที่ไม่อยู่ในตำแหน่งกลางขอบล้อ ก็ให้ปรับ Tracking Adjustment ให้ล้อบนเอียงหงายหรือคว่ํา เพื่อให้ใบเลื่อยเคลื่อนที่อยู่ในตำแหน่งโดยไม่หลุดออกจากวงล้อ
8. ปรับเลื่อนแท่งยึดชุดประคองใบเลื่อย (Guide Post) ขึ้น เพื่อให้ชุดประคองใบเลื่อย อยู่สูงกว่าผิวชิ้นงานประมาณ ¼ นิ้ว ถึง ⅜ นิ้ว ขันนอตยึดให้แน่น ใส่แผ่นปิดช่องใบเลื่อย
9. ปรับชุดประคองใบเลื่อย โดยให้ล้อรับหลังใบเลื่อยอยู่ห่างจากสันหลังใบเลื่อยไม่เกิน 1/16 นิ้ว (1.5 มิลลิเมตร) และที่บังคับข้างใบเลื่อยห่างจากข้างใบเลื่อยไม่ควรเกิน 1/32 นิ้ว (ประมาณ 1 มิลลิเมตร) ทั้งสองข้าง
10. ลองหมุนล้อด้วยมือเปล่า เพื่อตรวจสอบการหมุนของใบเลื่อยว่าการปรับถูกต้อง หรือไม่ ใบเลื่อยสั่นมากเกินไปหรือไม่ หากยังมีข้อบกพร่องก็ให้แก้ไขและขันยึดอุปกรณ์ต่างๆ ให้แน่นอีกครั้ง
11. ปิดฝาครอบป้องกันล้อทั้งบนและล่าง เตรียมใช้งานต่อไป
การเก็บ ใบเลื่อยสายพาน
ลักษณะใบเลื่อยสายพานจะต่อกันเป็นม้วนคล้ายสายพาน จึงทำให้การเก็บค่อนข้างลำบากและเปลืองพื้นที่ ดังนั้นจึงมีวิธีการม้วนเก็บเพื่อให้สะดวกและไม่เปลืองพื้นที่เก็บ มีขั้นตอนง่ายๆ ดังต่อไปนี้
1. จับใบเลื่อยด้วยมือทั้งสองข้าง โดยใช้หัวแม่มือกับนิ้วชี้จับใบเลื่อย และให้ฟัน ใบเลื่อยหันออกจากตัว
2. ใช้ปลายเท้าเหยียบปลายด้านหนึ่งของใบเลื่อย แล้วบิดหัวแม่มือที่จับใบเลื่อยอยู่ทั้ง สองข้างเข้าด้านในของวงใบเลื่อย
3. ปล่อยให้วงใบเลื่อยด้านบนโค้งลงด้านล่าง ขณะเดียวกันให้เผยอปลายเท้าเหยียบใบเลื่อยไว้ด้านล่าง เพื่อให้ใบเลื่อยบิดตัวตามการบิดด้วยมือทั้ง 2 ข้าง
4. ปล่อยให้ใบเลื่อยม้วนตัวโค้งเป็นวงกลมลงกับพื้น ใบเลื่อยก็จะม้วนตัวกันเป็นวงกลม 3 วงเท่าๆ กันพอดี
เช็คราคา เลื่อยสายพาน
Comments