สวัสดีค่ะ ห่างหายไปนาน ช่างมุ้งมิ้งกลับมาแล้วค่ะ ^-^ วันนี้ก็เอาเนื้อหาดีๆ เกี่ยวกับเครื่องมือช่างมาฝากอีกเช่นเคย
กบไสไม้ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Wood Planer มีหลายประเภทมาก แต่คนส่วนใหญ่จะรู้แค่ว่ามี กบไสไม้โบราณ กับ กบไสไม้ไฟฟ้า เท่านั้น
วันนี้ช่างมุ้งมิ้งก็เลยจะมาบอกเล่าเก้าสิบเรื่อง กบไสไม้ ให้ฟังค่ะ ทั้งประเภท และ เคล็ดลับการใช้งาน รับรองว่าจะทำให้ทุกคนเข้าใจ กบไสไม้ ได้ดีขึ้น เลือกที่เหมาะกับงานของตัวเองได้ง่ายขึ้น และใช้งานได้คล่องขึ้นอย่างแน่นอนค่ะ
สารบัญเนื้อหา
- กบไสไม้ คืออะไร? ใช้ทำอะไร?
- ประเภท กบไสไม้
- วิธีการใช้ กบไสไม้ โดยสังเขป
- เคล็ดลับวิธีการใช้ กบไสไม้
- หลักสำคัญในการเลือก กบไสไม้
1. กบไสไม้ คืออะไร? ใช้ทำอะไร?
ไม้ทุกชิ้น ทุกแผ่น ไม่ได้หนาเท่ากัน สวยเท่ากัน หรือเรียบเท่ากันหมด และงานที่เราต้องการก็ใช้ความหนาไม่เท่ากันเสมอไปด้วย ดังนั้น กบไสไม้ จึงจำเป็นสำหรับงานไม้รองจากเลื่อยเลยก็ว่าได้
กบไสไม้ ใช้ในการขัดผิวไม้เพื่อให้เรียบเสมอกัน กำจัดรอยขรุขระที่ไม่สวยงาม หรือเผยลายไม้สวยๆ ที่อาจสร้างมูลค่าได้มากขึ้น กบไสไม้ ต่างจากกระดาษทราย เพราะกระดาษทรายแค่ทำให้ผิวเนียนขึ้น แต่ กบไสไม้ จะช่วยสร้างขนาดหรือความหนาที่สม่ำเสมอกันจากต้นจรดปลายของไม้แผ่นหนึ่งหรือท่อนหนึ่งได้
กบไสไม้ จะค่อยๆ ขูดเนื้อไม้ออกไปเรื่อยๆ จนไม้เรียบเสมอกัน ลักษณะเศษไม้ที่ออกมาจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับชนิดใบมีดของ กบไสไม้ บ้างอาจออกมาเป็นแผ่น เป็นขี้เลื่อย หรือเป็นผงละเอียด
กบไสไม้ มีตั้งแต่ขนาดเล็กๆ สำหรับไสชิ้นงานเล็กๆ เหมาะกับคนที่ทำงานคราฟต์ งานฝีมือ และขนาดใหญ่จนยกไม่ได้แบบเน้นปริมาณงานต่อวัน ซึ่งจะเหมาะกับอุตสาหกรรมงานไม้
ใบมีดของ กบไสไม้ สามารถเปลี่ยนหรือถอดออกเพื่อลับคมได้ ขึ้นอยู่กับการออกแบบ หมายความว่ามี กบไสไม้ ที่ใช้ใบมีดติดตายด้วยเหมือนกัน
2. ประเภท กบไสไม้
ช่างมุ้งมิ้งจะแบ่งเป็น 2 ประเภทหลักๆ เพื่อให้แยกได้ง่ายขึ้นค่ะ เป็น กบไสไม้มือ หรือ กบมือ กบไสไม้โบราณ ซึ่งมี 8 ประเภท และ กบไสไม้ไฟฟ้า (Power Wood Planer) 4 ประเภท รวมเป็น 12 ประเภท
2.1 กบไสไม้มือ กบมือ กบไสไม้โบราณ
ข้อดีของกบมือแบบธรรมดา นอกจากราคาก็คือฝุ่นน้อย อันตรายน้อย ไม่มีเสียงดังหนวกหู และช่วยให้สังเกตลักษณะของไม้ได้ดีกว่า ทั้งเรื่องความเค้น เนื้อไม้ ลายไม้ ช่างจะค่อยๆ ค้นพบว่าไม้ชั้นไหนสวย แล้วจะเอาไม้ส่วนไหนไปทำอะไร จึงเหมาะกับคนที่ทำงานคราฟต์งานฝีมือมากๆ นั่นเอง โดยประเภทกบมือจะมีดังนี้ค่ะ
1) กบไสไม้แบบบล็อก (Block Planer)
เป็น กบไสไม้ ขนาดเล็ก 3-7 นิ้ว ที่มีการทำมุมเฉียงขึ้น ใบมีดอยู่ต่ำกว่าระนาบของ กบไสไม้ แบบอื่นๆ จึงไสไม้ได้ตั้งแต่ขอบถึงปลายอย่างลื่นไหล มุมมาตรฐานจะอยู่ที่ประมาณ 20 องศา กบจะค่อยๆ ไสไม้ออกทีละน้อย บางๆ จึงมีความคลาดเคลื่อนจากขนาดที่ต้องการน้อยมาก ใช้ในการไสขอบมุมได้ดี
2) กบไสไม้ประสาน (Jointer Planer)
กบไสไม้ ที่ใช้สำหรับปรับผิวของแผ่นไม้ขนาดใหญ่ หรือไสขอบไม้ให้เท่ากัน มีขนาด 20-24 นิ้ว จึงนับว่าเป็น กบไสไม้ ที่ยาวที่สุดในประเภททั้งหมดในบทความนี้ค่ะ ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบอย่างหนึ่ง เพราะทำให้ขัดผิวไม้ได้ง่ายและรวดเร็วมาก แถมยังสม่ำเสมอกันมากด้วย
3) กบไสไม้แบบขัดผิว (Scrub Planer)
กบไสไม้ สำหรับการเตรียมไม้แบบหยาบๆ มันจะช่วยไสไม้ออกครั้งละมากๆ รอยนูนผิดปกติหรือผิวไม้ที่ขรุขระจะถูกเอาออกอย่างรวดเร็ว เหมาะจะใช้กับไม้แผ่นใหญ่ แม้ว่าใบมีดจะแคบ แต่กลับหนาและแข็งแรงทนทานมากค่ะ
4) กบไสไม้แบบละเอียด (Smoothing Planer)
กบไสไม้ สำหรับเก็บงานขั้นตอนสุดท้ายหรือเก็บร่องรอยที่เครื่องจักรทิ้งไว้ ทำให้งานมิตำหนิ มันจะให้การไสไม้ที่ละเอียดถึง 0.051 มม. หรือน้อยกว่านั้น แม้ขนาดจะเล็กแต่ก็สามารถใช้งานสองมือเพื่อความบาลานซ์ได้ค่ะ
5) กบไสไม้กะลาสี (Jack Planer)
กบไสไม้ อเนกประสงค์ คนงานหรือกะลาสีเรือมักมีไว้ใช้งาน เพราะใช้ง่าย ใช้กับงานไม้ทั่วไปหรืองานประกอบที่มีการขึ้นโครงแล้วได้ เหมาะสำหรับงานที่ไม่ต้องการความละเอียดมาก หรือการปรับความหนาคร่าวๆ ใบมีดมีความโค้งเล็กน้อย จึงไสไม้ออกมาได้ค่อนข้างมากโดยไม่เสียหาย
6) กบไสไม้ขัดมุม (Chamfer Planer)
เป็น กบไสไม้ ที่ไม่มีใบมีดเลย ใช้เพื่อทำความสะอาดขอบมุมหรือโครงไม้ที่ประกอบแล้ว ซึ่งอาจมีเสี้ยนหรือคราบสกปรก เช่น คราบกาวแห้งที่ใช้ประกอบงาน เป็นต้น
7) กบไสไม้เซาะร่อง หรือกบไสร่องไม้ (Router Planer)
ใช้งานคล้ายๆ สิ่ว แต่ให้การไสที่ง่ายและสม่ำกว่า ใช้ไสร่องที่อยู่ต่ำกว่าผิวไม้ส่วนใหญ่หรือเว้าเข้าไป เพื่อให้มุมนั้นเรียบและเท่ากัน การใส่จ๊อยหรือการประกอบโครงสร้างจึงจะเข้ามุมกันได้อย่างสมบูรณ์ แนบสนิท
8) กบไสไม้ญี่ปุ่น (Japanese Planer or Kanna)
การออกแบบเครื่องมือของญี่ปุ่นกับประเทศในแถบตะวันตกมีความแตกต่างกัน เช่นเดียวกับเลื่อย กบไสไม้ ญี่ปุ่นจะต้องไสเข้าหาตัวเอง (ดึงเข้า) ไม่ใช่ไสออกไปทิศตรงข้ามตัวเองเหมือน กบไสไม้ ทั่วไป ที่จับทำจากไม้เนื้อแข็ง ไม้โอ๊คแดง หรือไม้โอ๊คขาวญี่ปุ่น มีใบมีดเหล็กที่แข็งแกร่ง ยึดตายด้วยตะปูอย่างแน่นหนา
2.2 กบไสไม้ไฟฟ้า
ข้อดีของ กบไสไม้ไฟฟ้า คือ การประหยัดแรงและเวลา ปรับความลึกในการไสแต่ละครั้งได้ในเครื่องมือตัวเดียว รองรับการทำงานครั้งละมากๆ ต่อวันหรืองานที่ยากเกินกว่าจะใช้แรงมนุษย์ปกติไสไม้ออกได้ จึงเหมาะกับงานอุตสาหกรรม งานไม้ขนาดใหญ่ หรือไม้เนื้อแข็งมากๆ ข้อเสียคือเครื่องจะดังและฝุ่นเยอะ จึงต้องสวมอุปกรณ์ป้องกันทั้งหู ตา และจมูก
1) กบไสไม้แบบถือ (Hand-Held Planer)
บ้างก็เรียกกบมือเฉยๆ ค่ะ เพราะเป็น กบไสไม้ ที่สามารถใช้มือยกได้อิสระ พื้นที่ทำงานจึงไม่จำกัด ใช้ไสงานที่วางบนพื้นหรือวางขนานพื้นได้ ใช้ไสพื้นผิวขรุขระหรือขอบเหลี่ยมได้ มีทั้งแบบไร้สายและมีสาย (ใช้แบตเตอรี่หรือเสียบสายไฟ) มักมีใบมีด 2-3 ใบ ไสไม้ด้วยการหมุนเร็วๆ ประมาณ 10,000-20,000 รอบ/นาที รูปแบบของใบมีดมีผลต่อความละเอียดไม้ที่ไสได้ ความหนาของไม้ที่ไสออกแต่ละครั้งประมาณ 1/8 นิ้ว ถึง 3/32 นิ้ว
2) กบไสไม้แบบตั้งโต๊ะ (Benchtop Planer)
หรือบางคนอาจเรียกว่าเครื่องรีดไม้ ตัวเครื่องจะหนาและหนัก มีลักษณะคล้ายกล่องหรือตู้เซฟ ใช้ไสไม้ที่เป็นแผ่นๆ และยาวได้ดี มีทั้งแบบที่ไสด้านเดียวหรือไสสองด้านพร้อมกัน สามารถเคลื่อนย้ายตำแหน่งที่ต้องการวางได้ ปรับระดับการไสได้เยอะ สามารถไสไม้ได้บางที่สุดในระดับมิลลิเมตรเลยล่ะค่ะ
3) กบไสไม้แบบยึดกับที่ (Stationary Planer)
เป็น กบไสไม้ ที่ตำแหน่งติดตั้งตายตัว เหมาะกับงานอุตสาหกรรมหรืองานหนัก เป็นเครื่องขนาดใหญ่ ใช้พื้นที่ติดตั้งเยอะ ราคาแพง และเสียงดัง มีหลายรูปร่าง ขนาดตั้งแต่ 12-20 นิ้ว สามารถรองรับไม้ที่ใหญ่และหนักกว่า กบไสไม้ ประเภทอื่นๆ ใช้ไสไม้เก่าๆ ได้ แต่บางรุ่นอาจต้องระวังเหล็กหรือตะปูที่ติดมา บางรุ่นก็ไสได้เลยไม่มีปัญหา ขึ้นอยู่กับวัสดุของใบมีดค่ะ
4) กบไสไม้แม่พิมพ์ (Molding Planer)
กบไสไม้แม่พิมพ์ หรือกบไสแม่พิมพ์ ใช้ในการไสแม่พิมพ์ไม้ให้มีลักษณะเหมือนกันหรือเท่ากัน เครื่องมีขนาดใหญ่ กลไกการใช้งานซับซ้อนมาก ราคาสูง เหมาะจะใช้สำหรับโรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วน ที่ผลิตครั้งละมากๆ สามารถไสได้หลายทรง ทั้งแบบแท่ง แบบกลม และแบบจ๊อยหรือจิ๊กซอว์
3. วิธีการใช้ กบไสไม้ โดยสังเขป
1) สวมอุปกรณ์ป้องกันหู แว่นตานิรภัย และผ้าปิดจมูก ถ้าใช้ กบไสไม้ไฟฟ้า
2) ตรวจสอบให้แน่ใจว่าแผ่นไม้ที่จะไสไม่มีวัสดุแปลกปลอม เช่น ลวดเย็บกระดาษหรือตะปู เพราะอาจทำให้ใบมีดเสียหาย การไสไม่เรียบเนียน
3) เช็คใบมีดของ กบไสไม้ ก่อนใช้งานเสมอ ถ้าไม่คมก็เปลี่ยนก่อน
4) วางไม้ด้านที่เรียบกว่าลงด้านล่าง เริ่มไสจากด้านที่ขรุขระหรือเอียงก่อน
5) ค่อยๆ ไสไปทีละน้อย หลายๆ รอบ จนกว่าจะได้ความหนาที่ต้องการ แล้วค่อยไสเก็บงานด้านที่เรียบ
6) ถ้าเป็น กบไสไม้ไฟฟ้า แบบตั้งโต๊ะ ให้ปรับความสูงลงช้าๆ ในแต่ละรอบของการไส อาจเป็นทีละ 5 มม. หรือ 1 มม. ขึ้นอยู่กับความสามารถของเครื่อง ความหนาของไม้ ลักษณะไม้ และความหนาที่ต้องการ ถ้าเครื่องไม่กินไม้หรือลูกกลิ้งไม่ทำงาน สังเกตว่าไม้ไม่ขยับเลย สามารถใช้ไม้ท่อนอื่นช่วยดันช้าๆ ได้
4. เคล็ดลับวิธีการใช้ กบไสไม้ ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน
นำมาฝากกัน 2 ข้อค่ะ เป็นเคล็ดลับสำหรับ กบไสไม้ แบบตั้งโต๊ะ เพราะช่างมุ้งมิ้งเห็นว่าคนส่วนใหญ่จะใช้ กบไสไม้ ประเภทนี้ อาจเพราะมันใช้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และค่อนข้างอเนกประสงค์ค่ะ
4.1 ใช้แผ่นไม้รองไม้โค้งงอต่างเลื่อน ช่วยให้ กบไสไม้ ทำงานได้ดีและง่ายขึ้น
ถ้าหากเจอไม้ที่โค้งงอเนื่องจากการขนส่งหรือความชื้นที่ไม่เหมาะสม ถ้าทำการไสเลยไม้ก็จะโยกเยก ทำให้ไสได้ยากและไม่ได้คุณภาพงานที่ดีนัก ถ้าใช้ กบไสไม้ แบบตั้งโต๊ะไสหน้าเดียว สามารถใช้ไม้แผ่นที่ยาวและใหญ่กว่ารองข้างล่างแล้วหนุนด้วยเศษไม้ที่เท่ากันเป็นระยะๆ หันด้านที่โค้งนูนขึ้นด้านบน ไม้ที่ไสก็จะออกมาเท่ากัน แถมยังคืนรูปด้วย
***เพื่อป้องกันไม่ให้เศษไม้ที่ใช้หนุนขยับหรือกระเด็น ควรใช้กาวร้อนติดกับแผ่นไม้เอาไว้ด้วย ค่อยแกะออกแล้วเก็บงานที่หลังได้ไม่ยากค่ะ
การไสรอบแรกควรตั้งค่าความลึกไม่เกิน 1/32 นิ้ว รอบต่อๆ ไปถึงค่อยเพิ่มขึ้นทีละนิด เป็นการค่อยๆ ดัดไม้ให้คืนรูปโดยที่ไม้จะไม่หักหรือแตกค่ะ
4.2 ใช้แคลมป์หรือกาวสองหน้าติดประกบตอนใช้ กบไสไม้ กับไม้ที่มีความหนาหรือความยาวไม่พอ
การไสขอบไม้ให้เสมอกันเป็นเรื่องลำบางถ้าไม้นั้นไม่ได้หนาพอ ดังนั้น เคล็ดลับข้อนี้จึงช่วยให้การทำงานง่ายขึ้นมาก แค่หาไม้ 2 ชิ้นที่เล็กกว่าแต่ยาวกว่าไม้ชิ้นที่ต้องการไส ใช้ 2 ชิ้นเพื่อประกบซ้ายขวา (ตามรูปด้านล่าง) ถ้าไม่มีแคลมป์หรือกังวลว่ากบจะไสโดนแคลมป์สามารถใช้กาวสองด้านติดประกบกันได้เลยค่ะ การใช้กาวสองหน้าทำให้แกะไม้ออกจากกันง่าย แล้วค่อยขัดทำความสะอาดเก็บงานทีหลัง
วิธีนี้นอกจากจะใช้ในการไสขอบไม้แล้วยังใช้กับไม้ที่ความยาวไม่พอได้ด้วย เนื่องจาก กบไสไม้ บางประเภทกำหนดความยาวไม้ที่ไสได้เอาไว้ แต่วิธีนี้จะใช้กับเครื่องที่ไสด้านเดียวเท่านั้นค่ะ
5. หลักสำคัญในการเลือก กบไสไม้
จากเนื้อหาที่กล่าวมา ทุกคนคงรู้กันแล้วว่า กบไสไม้ มีหลายประเภทมากๆ ดังนั้น การเลือก กบไสไม้ จึงมีหลักสำคัญอื่นๆ นอกเหนือจากความเหมาะสมกับงานด้วยค่ะ ได้แก่
5.1 ● ประเภทใบมีดและวัสดุของ กบไสไม้
ใบมีดของ กบไสไม้ มีด้วยกัน 3 แบบหลักๆ คือ แบบตรง แบบกลม และแบบเกลียว ใบมีดเกลียวคมจะถูกจัดเรียงเป็นแถวหมุนวนรอบแกน ในขณะที่ใบมีดกลมจะเรียงเป็นแถวตรง กบไสไม้โบราณ ใช้มีดแบบตรง 2 หรือ 3 ใบ ส่วน กบไสไม้ไฟฟ้า จะใช้แบบกลมหรือเกลียว ไสเนื้อไม้ออกโดยการหมุนด้วยความเร็วสูง การใช้ใบมีดตรงเสียงจะเบาและฝุ่นน้อยกว่า แต่แบบกลมกับแบบเกลียวจะให้การไสที่ละเอียดกว่า เรียบเนียนกว่า
ใบมีดตรงมักใช้วัสดุ SK5 หรือใบเหล็กความเร็วสูง ส่วนใบมีดกลมและเกลียวจะใช้หัวกัดขนาดเล็กที่สามารถเปลี่ยนได้ง่ายตามต้องการ ดังนั้น ค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนใบมีดจึงจำกัดอยู่ที่ความเสียหายเพียงเฉพาะจุดหรือเปลี่ยนทีละใบได้ นอกนี้ก็ยังมีวัสดุเหล็กกล้าความเร็วสูงหรือทังสเตนคาร์ไบด์ให้เลือกใช้สำหรับ กบไสไม้ไฟฟ้า ด้วยค่ะ
5.2 ● ขนาดของ กบไสไม้
กบไสไม้ ขนาดเล็กจะแคบ จึงสามารถไสแผ่นไม้กว้าง 12 นิ้ว หนา 6 นิ้ว ได้ไม่เหนื่อย แต่ถ้าไม้กว้างหรือแผ่นใหญ่กว่านั้นจะลำบาก เมื่อย และช้า ในขณะที่ กบไสไม้ ขนาดใหญ่จะใช้กับแผ่นไม้กว้าง 13 นิ้ว ขึ้นไปในความหนาที่เท่ากันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5.3 ● ความเร็วในการป้อนไม้ของ กบไสไม้
กบไสไม้ไฟฟ้า แบบตั้งโต๊ะที่ดีควรปรับความเร็วของการป้อนไม้ได้ 2 ช่วง เพราะการไสไม้เนื้อแข็งหรือไม้ฉลุ ถ้าไม้ค่อยๆ เคลื่อนเข้าไปในเครื่องจะช่วยเพิ่มคุณภาพและลดการเกิดรอยแตกได้ดีกว่า แต่ถ้าเป็นไม้เนื้ออ่อนหรือไม้ทั่วไป ใช้ความเร็วมากหน่อยงานจะเสร็จเร็วขึ้น
5.4 ● คุณสมบัติอื่นๆ ของ กบไสไม้ ที่มีประโยชน์
คุณสมบัติอื่นๆ ที่ต้องพิจารณาเวลาเลือก กบไสไม้ เช่น ปรับความลึกการไสได้มากหรือไม่ มีฟังก์ชันดูดฝุ่นหรือใช้แบตเตอรี่ได้หรือไม่ หยุดการไสซ้ำบริเวณเดิมอัตโนมัติได้มั้ย มีตัวบ่งชี้ความลึกการไสหรือไม่ ลฯล เหล่านี้อาจทำให้ กบไสไม้ มีราคาสูง แต่จะนำซึ่งประสิทธิภาพงานที่ต้องการได้ดี ง่าย และเร็วค่ะ
เป็นยังไงบ้างคะ เนื้อหาวันนี้ ถ้าหากใครสงสัยเรื่อง กบไสไม้ รุ่นไหน หรือ อยากถามข้อมูลเบื้องต้นของยี่ห้อใดบ้าง สามารถพิมพ์มาสอบถามที่ด้านล่างบทความนี้ได้นะคะ ช่างมุ้งมิ้งจะหาข้อมูลมาตอบค่ะ ถ้าคำตอบมันยาวก็อาจจะมาในรูปแบบบทความ
ใครชอบบทความนี้หรือเห็นว่ามีประโยชน์ ช่วยกดไลก์😍 กดแชร์ 💑 เป็นกำลังใจให้ช่างมุ้งมิ้งหน่อยนะคะ บทความของช่างมุ้งมิ้งจะได้มีคนเห็นเยอะๆ ค่ะ 😊
Comments